การอุดฟันมี 2 แบบ
- วัสดุสีโลหะ (อะมัลกัม) คือ โลหะผสม ที่มีการใช้เป็นวัสดุอุดฟันมานานเพราะมีความแข็งแรงทนทานต่อแรงบดเคี้ยว ราคาไม่แพง และมีขั้นตอนในการอุดไม่ยาก ข้อเสียคือ การใช้อะมัลกัมอุดฟันจะมองเห็นเป็นสีเงิน หรือสีเทาดำ จึงไม่นิยมใช้ในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า เพราะไม่สวยงาม อีกทั้งสีของอะมัลกัมยังสามารถซึมไปเปื้อนเนื้อฟันบริเวณอื่น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ซึ่งขจัดออกได้ยากมาก ปัจจุบันจึงใช้อะมัลกัมอุดในฟันซี่หลังๆ หรือฟันขนาดใหญ่ เช่น ฟันกราม ที่ AB Dental Studio ไม่มีบริการอุดฟันด้วยอะมัลกัม เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนโลหะและปรอทสู่ร่างหาย โดยเลือกใช้วัสดุอื่น เช่น เซรามิก หรือ เรซินคอมโพสิตในการบูรณะฟัน
- วัสดุสีคล้ายฟัน (เรซินคอมโพสิต) วัสดุสีคล้ายฟันเป็นวัสดุอุดสังเคราะห์ที่มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ อีกทั้งในปัจจุบันวัสดุเรซินคอมโพสิตได้ถูกพัฒนาให้มีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถใช้บูรณะฟันได้ในทุกตำแหน่ง มีแรงยึดเกาะที่ดี เป็นทางเลือกแรกสำหรับบูรณะฟันที่มีความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลาง
เราจะทราบได้อย่างไรว่าต้องการการอุดฟัน
มีเพียงทันตแพทย์เท่านั้นที่จะบอกได้ ในระหว่างการตรวจ ทันตแพทย์จะตรวจสอบพื้นผิวของฟันแต่ละซี่ ถ้ามีฟันที่ดูผิดปกติจะถูกทำการตรวจอย่างละเอียดด้วยการเอ็กซเรย์ทั้งช่องปากหรือเพียงบางส่วน การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายจากฟันผุ
ขั้นตอนการอุดฟัน
ฟันผุในเบื้องต้นจะยังไม่ปรากฏให้เห็นทางกายภาพมากนัก ซึ่งในบางครั้งฟันยังดูปกติดี แต่ทันตแพทย์สามารถจะดูได้จากการเอกซเรย์ว่ามีฟันผุที่บริเวณเนื้อฟันใต้เคลือบฟัน (Enamel) หรือมีการติดเชื้อที่รากฟันหรือไม่ รวมไปถึงดูว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกในบริเวณรอบ ๆ ฟันหรือไม่
เมื่อทราบสภาพของฟันผุนั้น ๆ แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มจากการใช้ยาชาบริเวณฟันที่จะอุด และจะกรอฟันในส่วนที่ผุออกไปด้วยการใช้เครื่องมือหรือเลเซอร์ ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือจะขึ้นอยู่กับความถนัดของทันตแพทย์ รวมไปถึงตำแหน่งและขนาดของฟันผุ หลังจากนั้นจะมีการทำความสะอาดฟันให้เหลือแต่เนื้อฟันที่แข็งแรงเพื่อให้พร้อมต่อการอุดฟัน
ในขั้นตอนของการอุดฟัน จะเป็นการเติมเต็มหรือแทนที่ด้วยวัสดุที่ใช้อุดฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะเลือกให้เหมาะสมและตามความต้องการของคนไข้ เวลาที่ใช้ในการอุดฟันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพฟันของผู้ป่วย
การดูแลหลังการอุดฟัน
- หลังการอุดฟันต้องดูแลฟันเหล่านั้นเป็นพิเศษทั้งในระยะสั้นและยาว สำหรับงานอุดด้วยวัสดุอะมัลกัม ควรงดเคี้ยวด้านที่อุด 24 ชั่วโมง เพื่อให้วัสดุอุดฟันแข็งแรงและเข้ารูปเต็มที่ จากนั้นควรกลับไปพบให้ทันตแพทย์เพื่อขัดแต่งวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันอีกครั้ง ส่วนวัสดุสีเหมือนฟัน สามารถเคี้ยวอาหารได้เลย
- กรณีที่อุดฟันหน้า ไม่ควรใช้ฟันหน้ากัดฉีกอาหารที่มีลักษณะแข็งเพราะจะทำให้วัสดุที่อุดแตกได้ และการแตกของวัสดุอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดี
- ส่วนในกรณีที่มีฟันผุลึกผู้ที่ได้รับการอุดฟันอาจมีการเสียวฟันภายหลังการอุดฟันได้จึงควรงดอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัด ปกติแล้วอาการเสียวฟันจะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ ในกรณีหลังจากอุดฟันไปแล้ว 1 เดือน แต่ผู้ป่วยยังคงมีอาการเสียวฟันอยู่ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขต่อไป
- หากมีอาการปวดเวลากัดหรือเคี้ยวอาหาร เนื่องจากวัสดุอุดฟันไปรบกวนการสบฟัน ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข
- ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกฟันที่อยู่ใกล้กับวัสดุอุด
- ควรพบทันตแพทย์ปีละ 1- 2 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คทั้งวัสดุอุดฟัน ตัวฟัน เหงือก และช่องปาก